Oct 7, 2024

ทำไมเรารู้สึกโชคดีที่ได้ทำงานร้านน้ำปั่นก่อนลาออก

ก่อนหน้านี้ เราต้องไปทำงานร้านน้ำปั่นแห่งหนึ่งเพื่ออยู่ให้รอดก่อน แม้จะไม่ตรงสายเลยก็ตาม เพราะเราหางานไม่ได้ เป็นประสบการณ์การทำงานที่ดีที่สุดและห่วยที่สุดในเวลาเดียวกัน

ก่อนจะได้ทำงาน

หลังจบฝึกงานที่ R V Connex เราก็อยู่รังสิตอีกสัก 2-3 เดือนแล้วก็ย้ายสำมะโนครัวกลับบ้านที่ชลบุรีไปพักผ่อนที่บ้านครอบครัว (ที่พึ่งย้ายบ้านใหม่เหมือนกัน) สักพักหนึ่ง เราก็ย้ายจากชลบุรีเข้ามากรุงเทพช่วงกลางเดือนกรกฎาคมเพื่อมาเรียนต่อปริญญาตรี

หนึ่งในแรงบันดาลใจหลักในการเรียนปริญญาตรีของเราคือพี่ต่อ หัวหน้างานของเราตอนนั้น สกิลความเป็นผู้นำของเขาทำให้เรารู้สึกว่า “เชี่ย คนจบปริญญาแม่งเก่งได้ขนาดนี้เลยเหรอ?” ประกอบกับพี่ต่อแนะนำเรื่องการหางานไว้ว่า ความสามารถในฐานะ developer น่ะทำให้ได้งาน แต่วุฒิการศึกษาเป็นตัวกำหนดฐานเงินเดือน เขาบอก / เตือนเรากลายๆ ว่า จบปวส. แล้วได้ทำงานออฟฟิศไทยน่ะ ระวังโดนกดเงินเดือนนะ

เรามีเวลาราวครึ่งเดือนนิดๆ ก่อนเปิดเทอมวันแรก แล้วเงินใกล้จะหมด เลยรีบหางาน งานอะไรก็ได้ตอนนั้นเพื่อให้อยู่รอด เข้ากะก็ได้ งานห้างก็ได้ ตอนนั้นคิดแบบนั้น โพสต์ในกลุ่มเฟซบุ๊คบ้าง เดินหาป้ายรับสมัครงานแถวๆ หอที่ตัวเองเช่าอยู่บ้าง แล้วเราก็เจองานน้ำปั่นในห้างที่ graphic น่ารักดีเลยแอดไลน์สมัครไป สัก 2-3 วันต่อมาก็มีคนโทรกลับ แล้วให้เราเลือกห้าง 2-3 ที่ที่เดินทางไปทำงานได้ พอคุยรายละเอียดจนวางสายเราก็โล่งใจไปเปาะนึง

งานห้างงานแรกในชีวิต (และไม่อยากบอกใคร)

เราเริ่มงานวันแรก 1 สิงหาคม ประจำอยู่โซนครัวก่อนช่วงแรก เพราะที่นี่ต้องทำทุกอย่าง คอยเตรียมผลไม้ตามสูตรให้ทีมเอาไปปั่น แล้วก็ช่วยปิดร้านตอนสี่ทุ่ม นี่คือรสชาติการทำงานเป็นกะ และทำงาน 6 วันครั้งแรกของเรา ช่วงแรกๆ เราก็คิดว่ามันโอเคดี งานมันไม่ต้องคิดอะไรเยอะ แต่พักหลังๆ ด้วยจำนวนคนที่สาขานี้เยอะ ร่วมกับค่าเดินทางไป-กลับเกือบจะหลักร้อยบาท ต้องนั่งวิน ต่อรถไฟฟ้าทั้งไปทั้งกลับ เราเลยติดต่อผู้จัดการขอย้ายไปอีกสาขานึง สาขานี้เรานั่งรถเมล์สายเดียวก็ถึงแล้ว ซึ่งก็ได้ย้ายตามนั้น

นานวันเข้า เราเริ่มจะคิดลบ กิจวัตรที่เคยมีก็เริ่มพังเพราะงานเป็นกะ เราเริ่มเที่ยวน้อยลงเพื่อประหยัดเงิน เวลากลับมาหอก็จะดูแต่ยูทูปและเล่นเกมเพราะเหนื่อยเกินกว่าจะทำอะไร บางวันก็กลับไปร้องไห้ที่หอ พลางต่อว่าตัวเองว่าทำไมถึงพาชีวิตมาในจุดที่น่าผิดหวังขนาดนี้ ทำไมหางานในสาย developer ไม่ได้เลยทั้งๆ ที่สกิลก็พอมี “เพราะเราวุฒิไม่ถึงรึเปล่า?” เราคิด ใจเราไม่ได้อยากทำงานนี้แต่แรก เพราะจะไม่ได้พักผ่อนเต็มที่แน่ๆ ลองคิดดูว่าคนที่ต้องทำงาน 6 วันแล้วมาเรียนในวันอาทิตย์จะได้พักผ่อนดีๆ กับเขาบ้างมั้ย

โหมดเอาตัวรอด

วันหนึ่งมีคนแอดไลน์มา เป็นพี่ที่เดาว่าน่าจะมาจากการแนะนำงานของอาจารย์ เราก็เลยหาวันลองทักไปดู ปรากฏว่าใช่จริงๆ บริษัทที่พี่คนนี้ทำงานกำลังมองหาโปรแกรมเมอร์ช่วยดูแลระบบ แล้วพอคุยผ่านไลน์กันคร่าวๆ ก็นัดวันที่จะไปคุยรายละเอียดงานกันต่อ วันนั้นเราขอแลกกะทำงานกับคนในทีมเลย บอกว่าขอกะปิดร้าน ตอนเช้าจะไปทำ “ธุระ”

หลังจากที่คุยมา เรามีความรู้สึกค่อนข้างชัวร์ว่าได้งานแน่ๆ แต่ไม่แน่ใจว่าเมื่อไหร่ หลังจากนั้นเราขอลาออกเลย ด้วยเหตุผลที่พึ่งรู้ตอนปฐมนิเทศว่า สำหรับนักศึกษานอกเวลา จำเป็นต้องเทียบประสบการณ์ฝึกงาน/ทำงานที่ตรงสาย 1 ปีสำหรับปวส. และ 2 ปีสำหรับ ปวช. และม.6 แล้วสู้ไปหางานที่ตรงสายจะดีกว่า

นับถอยหลังการลาออก คือโหมดเอาตัวรอด เราต้องประหยัดค่ากินอย่างหนักมาก ไม่สามารถใช้จ่ายแบบไม่คิดหน้าคิดหลังได้ แต่โชคดีที่การย้ายมาทำงานสาขานี้คือสวรรค์ในการเอาตัวรอดมากๆ ลูกค้าน้อย เก็บร้านง่าย เดินทางสะดวก หลังจากอะไรๆ ดีขึ้น เราก็เริ่มสร้างกิจวัตรกลับคืนมา เราฟังปรัชญาในยูทูปบ่อยขึ้น เราเริ่มหาอีบุ๊คอ่าน ตอนพักเรามักจะไปพักอ่านหนังสือที่คิโนะคุนิยะ แล้วก็พยายามนอนให้เร็ว ตื่นเวลาเดิม อย่างน้อยที่สุดนอนเที่ยงคืน ตื่นหกโมงก็ยังดี

ยิ่งทำงานนานเข้า ก็ยิ่งได้รู้จักบริษัทจากคนในทีม และสิ่งที่คนในทีมพูดไม่ว่าจะคนไหนๆ ก็เริ่มเป็นสิ่งยืนยันความคิดของเรามาตลอด

Red flags ที่ค่อยๆ เผยตัว

วันหนึ่งเราเคยพูดเรื่องลาออกกับคนในทีม ปรากฎว่าทุกคนในนั้นก็มีความคิดที่จะลาออกเหมือนกัน แล้วเรา 2-3 คนก็คุยกันเป็นตุเป็นตะถึงสิ่งที่พนักงานคนนึงต้องเจอ รวมถึงสภาพแวดล้อมการทำงาน

อย่างแรก: การไม่มีตำแหน่งชัดเจน ถ้าเป็นงานห้างที่เราว่าดีๆ หน่อยจะมีตำแหน่งงานชัดเจน อย่างพนักงานโซนครัว แคชเชียร์ ล้างจาน ฯลฯ แต่ที่นี่ไม่ใช่แบบนั้น พนักงานได้ทำทุกอย่างทั้งปั่นผลไม้ สต็อกวัตถุดิบ เปิด-ปิดร้าน นับยอดขาย รับลูกค้า สารพัดอย่าง ทำเอาเรานึกถึงพนักงานเซเว่นกลายๆ

ต่อมา: คนไม่พอ แทบจะเป็นปัญหายอดนิยมของที่นี่ที่ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เพราะคนไม่พอเลยต้องทำงานเป็นทุกอย่าง เพราะคนไม่พอ ในตารางงานบางคนเลยถูกบังคับทำโอที เพราะในสัญญาจ้างงานบอกประมาณว่า เวลาทำงาน 8 ชั่วโมงหรือตามที่นายจ้างกำหนด หมายความว่า หลายคนที่นี่รวมถึงเราทำ 9-10 ชั่วโมงกันหลายวันทั้งพาร์ทไทม์และพนักงานประจำ แถมไม่รวมเวลาพักเป็นเวลาทำงาน บางคนไม่ได้หยุดงานเลยด้วยซ้ำ บางคนต้องทำงานเปิดยันปิดห้าง (สิบโมงเช้าถึงสี่ทุ่ม เป็น 12 ชั่วโมงรวมพัก)

ต่อมา: ลางานไม่ได้ หรือถ้าได้ก็จะไม่ได้หยุดงานในเวลาต่อไป เราได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่าถ้าจะลาก็ลาได้ แต่จะได้ลามั้ยนั่นอีกเรื่อง พอคนไม่พอ การลางานเลยกระทบทุกคน แต่ทุกคนในทีมเข้าใจหมดถ้าจะลา เช่นมีพี่ในทีมคนนึงต้องพาแม่ไปหาหมอเลยต้องลายาว แต่ก็ต้องมาทำงานโดยไม่มีวันหยุดหลังจากนั้น พวกลาป่วยหรือลากิจอะไรพวกนี้ก็จะโดนผู้จัดการปัดตกบ่อยๆ ผลที่ได้คือ ป่วยก็ต้องมาทำงาน (เราเอง) สิทธิแรงงานอันพึงมีอย่าถามหากับบริษัทนี้

ซึ่งปัญหาทั้งหมดทั้งมวลมาจาก: การขยายสาขาเร็วเกินไป เราไม่รู้ว่าผู้บริหารคิดอะไรกันอยู่ถึงเปิด 6 สาขาใน 1-2 ปี โดยที่ไม่ได้คิดถึงจำนวนคนและภาระงานที่แต่ละคนได้รับเลย สาขาล่าสุดที่เปิดเมื่อเดือนที่แล้วต้องโยกคนจากสาขาอื่นไปเปิดร้านให้ อันที่จริงการต้องทำงานหลายสาขานี่ก็อีกปัญหาเช่นกัน มันบ่งบอกชัดเจนว่าคนไม่พอจนต้องใช้คนสาขาอื่น พอขยายสาขาไปแล้ว บางสาขาก็ไม่มีคนเลยด้วย บางสาขาคือตัวทำเงินของบริษัท แต่ดันคนน้อยเกินไป

และอีกข้อสำคัญ: ผู้จัดการที่ไม่ได้เรื่อง คุณเคยมั้ยครับในชีวิต ที่คนทำงานต้องทวงถามว่าเราจะต้องไปทำงานที่ไหน เวลาเท่าไหร่ เพราะเขาเป็นคนจัดตารางงาน ซ้ำร้ายกว่านั้นคือพึ่งมาบอกตอนเช้าของวันทำงานทั้งที่เราพยายามถามล่วงหน้าเป็นวันๆ แล้ว จะได้เตรียมตัวถูก แต่ข้อนี้คือเอือมมากจริงๆ นอกจากนี้มักจะชอบใช้คนกลาง ซึ่งเป็นพี่ๆ ในทีม มาคุยแทนเรา แทนที่จะคุยกับเราตรงๆ ไปเลย อ้อ เผื่อจะมีประโยชน์ ผู้จัดการก็คน Gen Z เนี่ยแหละครับ

ทั้งหมดนี่ในเงินเดือน 12,000 บาทสำหรับพนักงานประจำ

ครบหมดทั้ง understaffed, underpaid และ under a lot of pressure เลยทีเดียว ที่ลิสต์มา นึกว่าตัวเองกำลังทำงานใน startup อยู่เลยแฮะ

Mindset ที่เปลี่ยนไป

เพราะงานนี้เป็นงานใช้แรงถึง 6 วันต่อสัปดาห์ด้วยกัน เราเลยเฝ้ารอวันอาทิตย์อยู่ทุกวันเพราะจะได้เรียนสักที วันอาทิตย์เรามักจะกินพายสับปะรดเป็นการเริ่มวัน และเข้าไปตั้งใจเรียนแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในชีวิต ที่ผ่านมาเราเรียนค่อนข้างชิล แม้กระทั่งตอนนี้ก็ตาม ไม่ต้องพยายามมากเราก็ได้เกรดดีๆ แล้ว ถึงแม้ว่าเราจะไม่ต้องพยายามมากขนาดนั้นในปริญญาตรีก็ได้ แต่เราเลือกที่จะตั้งใจให้สุดเลยดีกว่า คงเพราะสัมผัสชีวิตการทำงานจริงๆ มาแล้วว่ามันหนักหนาขนาดไหนก่อนจะเรียน (ตั้งแต่ฝึกงานปวส. ด้วยซ้ำไป) และความตั้งใจที่ไม่อยากจะเจองานห่วยๆ แบบนี้อีกทั้งที่สกิลก็มี เลยมีเชื้อไฟมากเกินพอที่จะเข้าสู่ระบบการศึกษาที่สูงขึ้น และอยากทำให้ดีที่สุดไปเลย เราเลยมี mindset ที่ว่า วันเรียน = วันพัก ระหว่างที่ทำงานอยู่

ช่วงที่ต้องกลับไปทำงานสาขาเดิมตามตาราง เราเลยแวะเอเชียบุ๊คส์หาหนังสืออ่าน แล้วก็เจอกับหนังสือ “Conscious Luck” ที่ทำให้เราเริ่มกลับมามองตัวเองว่าเรามีอะไรอยู่กับตัว และรู้สึกโชคดีที่มีมัน นี่เป็นหนังสือที่บอกให้เราลงนามความโชคดีในแอปจดโน้ตของเราเลยด้วย ว่านับตั้งแต่นี้ไปขอประกาศความตั้งใจในการเป็นคนโชคดี นับแต่ตอนนี้ไปจนตลอดชีวิต แม่งทรงพลังโคตรๆ ทำเอาวันนั้นเราคิดบวกไปเลย แล้วเวลาเจอเหตุการณ์อะไรก็จะคิดว่าตัวเองโชคดีไปซะหมด แนวคิดนี้ บวกกับปรัชญา Stoicism ที่เราฟังและอ่านอยู่ประจำช่วงนั้น ช่วยให้เราควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้น และมองโลกในแง่ดีขึ้น

ลาออก

เราสะท้อนตัวเองอยู่พักใหญ่ๆ หลังลาออกจากการทำงานที่นี่มา 2 เดือน งานนี้มันแย่ชนิดที่พีคแล้วพีคอีก ต้องเจอกับผู้จัดการที่ไม่ได้เรื่อง งานที่หนักเกินความจำเป็น การตัดสินใจของผู้บริหารที่ลืมคำนึงถึงพื้นฐานไป ทำเอาเรานึกถึงการทำงานรูปแบบ startup ขึ้นมาพิลึก แต่ก็โชคดีตรงที่เราได้ฝึกใช้ปรัชญาในชีวิตประจำวัน ได้รู้จักเส้นทางรถเมล์ใหม่ๆ ได้สกิลการขายมานิดหน่อยเพราะชอบยืนแคชเชียร์แล้วเจอลูกค้าต่างชาติบ่อย แถมพึ่งเข้าใจว่าการขายง่ายแค่นี้เอง ทำเอานึกถึงคำพูดประมาณว่า “พูดอ่ะฟรีนะ ฉะนั้นคุณก็ขายได้” สำคัญที่สุดคือ การได้รู้ตัวเองว่าเรามีสกิลอะไรอยู่ในตัว และเชื่อว่าตัวเองสามารถไปได้ไกลกว่าทำงานงกๆ ในห้างแบบนี้